วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จากพม่า พะยู พะโค อารยัน สู่กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า

เกร็ดนอกประวัติศาสตร์จากพม่า
                        จากการบันทึกของ มิสเตอร์ชาร์ล คิมบอล ได้เขียนประวัติศาสตร์การสร้างอาณาจักรพม่าไว้อย่างน่าสนใจว่า บรรพบุรุษเริ่มก่อตั้งโดยเผ่าเชื้อสายมอญ ส่วนเผ่าต่างๆ ในชาติพม่าในช่วงเริ่มแรกก็ไม่ต่างจากยุคปัจจุบัน ในดินแดนนี้ล้วนประกอบไปด้วยชนหลายเผ่าที่อยู่รวมกัน สมัยนั้นก็มีชนเผ่ามอญ พม่า พวกพะโค พวกอารยัน ส่วนพวกอารยันสันนิษฐานว่า อพยพมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของประเทศอินเดีย ชนชาติมอญเข้ามาก่อสร้างอาณาจักรในยุคแรกๆ ของพม่า ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทยกับพม่า จะเป็นลักษณะการสู้รบ ชาวพม่าในยุคนั้นเป็นเชื้อสายมอญ เช่น พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้านันทบุเรง และสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ถูกจับตัวไปเป็นเชลยอยู่ในกรุงหงสาวดี ในช่วงนั้นก็อยู่ในช่วงการปกครองของชาวมอญแทบทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันชาติมอญได้ล่มสลาย ดินแดนตกอยู่ภายในการยึดครองโดยเผ่าพม่า ทำให้ชาวมอญบางส่วนต้องหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศ ตามที่เราทราบอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เราจะเห็นลูกหลานมอญมากมายที่คอยร่วมกันสร้างชาติไทยในยุคปัจจุบัน
                        บรรพบุรุษมอญ สร้างอาณาจักรโดยเริ่มขึ้นทางตอนใต้ของประเทศจีน มีความสัมพันธ์กับชาวจีนอย่างแน่นแฟ้น การดำเนินชีวิตของชาวมอญช่วงนั้น ค่อนข้างอิสระ ต่อมาไม่นาน ก็ถูกคุกคามจากการขยายอำนาจของอาณาจักรจีน ถ้าเราจะศึกษาจากประวัติศาสตร์ของชาวจีน หรือชาติต่างๆ ในยุคโบราณ ล้วนแต่นิยมขยายอาณาเขตการปกครองตามใจชอบ ใครมีกำลัง และความสามารถมาก ก็ขยายดินแดนออกไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ชนชาติมอญไม่สามารถต่อต้านการรุกรานจากจีนได้ ทำให้ประชาชนพากันอพยพหนีภัยสงครามอย่างไม่มีเป้าหมาย บางพวกหนีขึ้นเหนือไปถึงดินแดนธิเบตในปัจจุบัน บางพวกเข้าไปยังมณฑลยูนนานของจีนปัจจุบัน บางพวกก็อพยพลงมาตอนเหนือของพม่าปัจจุบัน แล้วค่อยๆ กระจายประชากรไปอยู่ตามเทือกเขา บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี และกำหนดพื้นที่ใหม่ สร้างเป็นอาณาจักรแห่งใหม่เรียกว่า Pyus
                        อาณาจักร Pyus เริ่มมีความมั่งคั่ง ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ก็เนื่องจากมีจุดแข็งคือ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบลุ่มที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ทำการเกษตรกรรม ขณะเดียวกัน ก็มีการคมนาคมที่สะดวก เหมาะสมต่อการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ คือ แม่น้ำอิระวดี อาณาจักร Pyus มีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวอินเดีย สังคมของ Pyus มีอารยธรรมที่นุ่มนวล น่ารัก นิยมความสงบ มีน้ำใจ สังคมอบอุ่น ไม่มีการเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบกัน พึ่งพาอาศัยกันฉันท์พี่น้อง ประชากรส่วนมากยึดมั่นอยู่ในจารีตประเพณี และจริยธรรมอันดีงาม เรียกได้ว่าบทลงโทษในทางกฎหมาย แทบจะหาไม่ได้ในอาณาจักรนี้
                        กล่าวกันว่า อาณาจักรของ Pyus ประชาชนไม่รู้จักคำว่าคุก หรือโซ่ตรวนที่พันธนาการนักโทษว่าเป็นอย่างไร แต่ก็มีการลงโทษบ้างเล็กน้อย เช่น การเฆี่ยน โดยใช้แส้เท่านั้น
                        การแต่งตัวของเพศชาย นิยมใส่เครื่องทอง สวมหมวกทรงสูง ส่วนเพศหญิง ก็นิยมสวมเครื่องประดับที่มีค่าไว้บนศีรษะ หรือประดับทรงผม ทั้งชายและหญิงจะใส่เสื้อผ้าที่หรู มีสีสันเป็นสีฟ้าสดใส การปลูกบ้านเรือนจะเป็นบ้านไม้ ส่วนหลังคาบ้านจะปูด้วยกระเบื้อง สันนิษฐานว่าน่าจะนำเข้ามาจากจีน ข้างของเครื่องใช้ล้วนทำมาจากดีบุก ตะกั่ว และทองคำ ส่วนศิลปวัตถุ เครื่องประดับจะประกอบไปด้วยทอง แก้วสีเขียว หยก เป็นส่วนมาก นับได้ว่าอาณาจักร Pyus ในยุคนั้นมีความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจอย่างสุดขีด
                        ต่อมาเข้าสู่ศตวรรษที่ 6 อาณาจักร Pyus เริ่มเกิดปัญหาเผ่าพม่าเริ่มมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทำให้อิทธิพลของเผ่ามอญเริ่มลดลงเรื่อยๆ และประกอบกับได้รับการโจมตี เพื่อขยายอาณาเขตจากอาณาจักรน่านเจ้าของไทย บรรดาเหล่าขุนนางเริ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ปัญหาชนกลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่อย่างเช่น กระเหรี่ยง เริ่มตั้งตัวเป็นใหญ่ ส่วนเผ่าพม่าก็เริ่มรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม มีการพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
                        ศตวรรษที่ 11 พม่าก่อตั้งเมืองโดยใช้ชื่อว่า พุกาม (เป็นคำพื้นฐานมาจาก gon ซึ่งแปลว่าป่า) ในขณะเดียวกันนั้น มอญบางพวกพากันแยกตัวออกจากอาณาจักร Pyus ที่อ่อนแอ มาสร้างเมืองหลวงใหม่ใช้ชื่อว่า เมืองพะโค พะโคตั้งอยู่บริเวณตอนบนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ดินแดนเมืองพะโคเป็นที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นที่ราบลุ่มพื้นดินรูปลิ่ม มีความยาวประมาณ 350 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างขนาด 90 กิโลเมตร รวมพื้นที่ของเทือกเขาอารยัน (Arakan) บางส่วน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรพม่า
                        อาณาจักรพะโค เป็นดินแดนที่มีชายแดนติดกับบังคลาเทศและอินเดียในปัจจุบัน ทำให้ชาวอินเดียและบังคลาเทศในยุคนั้นเรียกเมืองพะโคว่า ชาวอารยัน (Arakan) อาจจะเรียกชื่อตามภูเขา โดยพื้นฐานเดิมแล้วชาว Arakan จะมีความใกล้ชิดกับพม่า พวกเขาพูดภาษาพม่ามาแต่โบราณ แต่หลังจากการย้ายมาสร้างอาณาจักรใหม่ (พะโค) ทำให้การติดต่อค้าขาย การสื่อสารกับชาวพม่าเริ่มยากลำบากมากขึ้น เพราะความทุรกันดารของภูมิประเทศ โดยเฉพาะเทือกเขาอิระวดี เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการเดินทาง ทำให้ชาว Arakan มีความสนใจและใกล้ชิดกับอินเดียมากกว่า เดิมชาวพะโคนับถือศาสนาพุทธเหมือนอย่างชาวพม่า แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีความสัมพันธ์ติดต่อกับชุมชนเบงกาลี ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้บางส่วนหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาณาจักรพะโคก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 266 โดยประวัติของอาณาจักรถูกจารึกไว้เป็นภาษาสันสกฤต และได้บันทึกตอนสำคัญไว้ว่า อาณาจักรพะโคถูกทำลายเพราะการยึดครองของกษัตริย์ Anawrahta ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรพม่า อาณาจักรพะโคถือว่าเป็นอาณาจักรของชาวมอญโดยแท้จริง เชื้อชาติมอญจากประวัติศาสตร์ที่พบ เป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่นมาก ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน วัฒนธรรม การดำเนินชีวิตอันงดงาม ที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง โดยสามารถพบเห็นวัฒนธรรมอันมีคุณค่าจากกิจกรรมต่างๆ ของชนชาติมอญได้จากประเทศไทย เพราะจะมีการจัดกิจกรรมประเพณีอยู่เสมอๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเชื้อชาติที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมให้แก่ลูกหลานชาวมอญจากรุ่นสู่รุ่นอย่างลงตัว โดยพวกเขายังมีการรวบรวมบันทึกลำดับรายชื่อ องค์พระมหากษัตริย์ของชาติมอญไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ไว้เป็นอย่างดี โดยกษัตริย์ชาติมอญมีทั้งหมด 9 พระองค์ ตามที่สืบค้นตามลำดับอย่างลงตัว